รีวิวแจ็คเก็ต Orazio Luciano “La Vera Sartoria Napoletana” - ช่างตัดสูทสายเลือดแท้จากนาโปลี
หากจะพูดว่า Orazio Luciano เป็นหนึ่งใน Tailor ที่ผมชอบมากที่สุดสำหรับ Sport Jacket ก็คงไม่ผิด เพราะด้วยผ้าที่มีให้เลือกสรร สไตล์การตัดเย็บ และดีเทลรายละเอียดบนตัวแจ็คเก็ตที่เป็นต้นตำรับหนึ่งของสายนาโปลีที่ขึ้นชื่อเรื่อง Soft Tailoring หรือ Second Skin ที่สวมใส่แล้วต้องใส่สบายที่สุด รวมไปถึงงานเย็บมือที่ดุดันไม่เป็นสองรองใคร ในบทความนี้เดี๋ยวเราจะมาเจาะรายละเอียดเกี่ยวกับช่างตัดสูทสายเลือด Neapolitan เจ้านี้กันครับ
อีกครั้งหนึ่งครับที่ผมต้องแจ้งท่านผู้อ่านว่า บทความนี้ผมเขียนจาก “ประสบการณ์ตรง” ของผมเองล้วนๆ ดังนั้นจะมีทั้งส่วนที่เป็นการวิเคราะห์ที่เป็น Fact และการวิเคราะห์ที่ Base On ความชอบของผมเองนะครับ
เอ้ามาลุยกันเลย!
ผมได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Tailor คนนี้ครั้งแรกจากร้าน “The Somchai” ซึ่ง ณ ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมกำลังหาสไตล์ของแจ็คเก็ตที่ตัวเองชอบอยู่ ยังไม่ได้มีสไตล์แบบไหนที่เฉพาะเจาะจงว่าชอบ และยังไม่มีความรู้เบื้องลึกเกี่ยวกับผ้า โครงสร้าง และการตัดเย็บของสูทมากเท่าไหร่ ดังนั้นผมเลยอาศัยการ “ลองไปเรื่อยๆ” โดยลองจากร้านมือสองบ้างและตามร้านตัดสูทบ้างเพื่อค้นหาสไตล์ที่ใช่สำหรับตัวเอง
แต่ความต้องการของผมโดยคร่าวๆคือ ต้องเป็น “Sport Jacket ที่ใส่แล้วไม่ร้อน นำไป Matching ง่าย ลุคไม่ดูเป็นทางการมาก และแจ็คเก็ตดูไม่เรียบจนน่าเบื่อ” ซึ่งจากเกณฑ์เหล่านี้ก็จะช่วยตัดตัวเลือกของแจ็คเก็ตให้ลงมาได้ค่อนข้างเยอะ และ Neapolitan Tailor หรือแจ็คเก็ตจากนาโปลีก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เข้าข่าย
ผมได้ลองแจ็คเก็ตของ Orazio Luciano ครั้งแรกที่ร้าน The Somchai ผมไปวอแวไปคุยกับคุณตองเจ้าของร้านละก็ขอแกลองสวมแจ็คเก็ตของ Tailor เจ้านี้ดู ผมมีเกณฑ์หลายข้อในการตัดสินใจว่าแจ็คเก็ตหรือสูทตัวนั้นมัน “ใช่สำหรับผมมั้ย” หนึ่งในเกณฑ์การตัดสินที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆคือ “ถ้าใส่แล้วแล้วรู้สึกว่า เห้ย สวย!!!” ทันทีแบบยังไม่ต้องใช้สมองคิด แสดงว่าแจ็คเก็ตตัวนั้นมีโอกาสที่จะเหมาะกับผมมากกว่าตัวอื่นๆ ตัวไหนถ้าลองแล้วรู้สึกว่า “ก็...สวยดีนะ” หรือต้องคิดต่อหลายตลบว่า “จะเอาไปใส่ยังไงดี” จากประสบการณ์ที่ผ่านมามักจะไม่ใช่แจ็คเก็ตที่ผมชอบจริงๆ
ครั้งแรกหลังจากที่ผมได้สวมแจ็คเก็ตของ Orazio Luciano เข้าไปแล้วส่องกระจกดู Silhouette มันเหมือนเราเจอเนื้อคู่ที่พลัดพรากกันตั้งแต่อดีตชาติยังไงยังงั้น และเป็นครั้งแรกในชีวิตจริงๆที่ผมรู้สึกว่าเจอเข้าให้แล้วกับสไตล์ที่ตัวเองชอบ
Orazio Luciano เป็นช่างตัดสูทเจ้าหนึ่งจากเมือง Naples ประเทศอิตาลี ก่อตั้งมาในยุค 90’s เป็นหนึ่งในช่างตัดสูทสายนาโปลีที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์และมี Signature ชัดเจนมากเจ้าหนึ่ง โดย Tailor เจ้านี้เค้ามีคอนเซ็ปต์ว่า “Redefined Classicism” หรือเป็นการนำสไตล์ Neapolitan แบบดั้งเดิมมาปรับใหม่ให้ใส่ได้ง่ายเข้ากับสไตล์ Contemporary ในยุคปัจจุบัน
ผมต้องขออนุญาตย้อนกลับไปถึงความเป็น Neapolitan Tailoring หรือ Soft Tailoring กันก่อนสักนิดหน่อย
Naples เป็นเมืองที่มีอากาศค่อนข้างร้อนเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆในอิตาลี เช่น Milan, Florence หรือ Rome เพราะค่อนมาทางตอนใต้มากกว่า และภูมิประเทศตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเล ด้วยลักษณะของภูมิประเทศและภูมิอากาศแบบนี้จึงส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและเป็นการหล่อหลอมลักษณะของเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับภูมิอากาศของบ้านเขา เกิดเป็น “Signature Style” ที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่นคอนเซ็ปต์ของ Soft Tailoring รวมไปถึง Cutting ที่ให้ Silhouette ของความชิลและสนุกตามสไตล์ชาวเล ไปจนถึง “Spalla Camicia” หรือวิธีการเย็บต่อปลอกแขนเข้ากับตัวแจ็คเก็ตในรูปแบบของเสื้อเชิ้ตอันโด่งดัง
ด้วยภูมิประเทศและวัฒนธรรมที่ต่างกัน ส่งผลให้สไตล์ การตีความหมายของความสวยงามหรือ Aesthetic และโครงสร้างของสูทแต่ละภูมิภาค เช่น Naples, Florence หรือ Milan มีความแตกต่างกันที่ค่อนข้างชัดเจนถึงแม้จะอยู่ในประเทศอิตาลีเช่นเดียวกัน เหมือนกับประเทศไทยเราที่แต่ละภาคก็จะมีวัฒนธรรมและคาแรคเตอร์แตกต่างกันออกไป
Soft Tailoring เป็นคำที่บ่งบอกถึงแจ็คเก็ตหรือสูทที่ไม่ได้มีการเสริมโครงสร้างอะไรเพิ่มเข้าไปสักเท่าไหร่ เป็นการตัดเย็บสูทโดยมีเป้าหมายที่ว่า “ตัดเย็บออกมายังไงก็ได้ให้ใส่ได้สบายที่สุด” นั่นก็หมายความว่า ใส่แล้วไม่ร้อน ไม่อับ ไม่หนัก ใส่แล้วต้องรู้สึกว่าแจ็คเก็ตเป็น “Second Skin” ไม่ใช่เหมือนชุดเกราะที่ใส่แล้วอึดอัด ใส่แล้วต้องรู้สึกว่าเหมือนเราใส่เสื้อเชิ้ตปกติอยู่
กระบวนการทั้งหมดของไอเดียนี้เริ่มจากการ Deconstruct โครงสร้างภายในโดยตัด Padding ต่างๆและโครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องมีออกไปเรื่อยๆจนเกือบหมด ทำให้แจ็คเก็ตทั้งตัวมีเพียงชั้นของผ้า แคนวาส และซับในเพียงเท่านั้น เหลือ Padding ไว้เพียงส่วนปกรอบคอเพื่อให้อยู่ทรงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็เลยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไม Soft Tailoring สายนาโปลีจึงเหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทยมาก ผมเคยเขียนบทความฉบับเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว สามารถติดตามไปอ่านต่อได้ที่นี่เลยครับ
Orazio Luciano ได้ถ่ายทอด DNA ของ Neapolitan Tailoring ลงในสไตล์การตัดเย็บของตัวเองได้อย่างเซ็กซี่ ส่วนตัวผมจัดให้ Orazio เป็นแจ็คเก็ตสายนาโปลีที่ค่อนข้าง Extreme และสื่ออกมาถึงวัฒนธรรมของชาว Naples ได้ดี โดยผมชอบเรียกแจ็คเก็ตของ Orazio ว่าเป็นแจ็คเก็ตที่ให้ความ “ชุ่ยแบบเนี้ยบๆ”
โดยรวมแล้ว Orazio Luciano เป็นแจ็คเก็ตที่ “ค่อนข้างเสียงดัง” คือใส่แล้วยากที่จะไม่รู้ว่าแจ็คเก็ตตัวนี้เป็นสายเลือดนาโปลี ท่านผู้อ่านลองนึกถึงลุคของนักแสดงจากหนังเรื่อง Godfather ที่ผมว่าสื่อลักษณะนิสัยและสไตล์ของแจ็คเก็ตเค้าได้ค่อนข้างดี ถ้าพูดตรงๆให้เห็นภาพคือ “คนที่ทำตัวชิลๆและนิสัยชอบกวนตีน แต่เค้าก็ภูมิใจและมั่นใจในนิสัยที่กวนตีนของเค้า” เป็นหนึ่งใน Italian Flair ที่ผมคิดว่าถ่ายทอดออกมาผ่านเครื่องแต่งกายได้ยาก แต่แจ็คเก็ต Orazio Luciano สื่อถึงนิสัยตรงนี้มาได้ดีและชัดเจนเลยครับ
ด้วยสไตล์ของแจ็คเก็ตที่มีความ “Grandiose” แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจแบบกวนตีนโดยไม่ได้แคร์สายตาของชาวบ้านชาวช่อง ทำให้รายละเอียดทุกอย่างบนตัวแจ็คเก็ตจะดูชัดเจนและจัดจ้าน เช่น ปกแจ็คเก็ตที่ค่อนข้างใหญ่และบานออก เสริมด้วย Pick Stitching หรือการเดินด้ายด้วยมือซึ่งไม่ทำให้เราเห็นแค่บริเวณปก แต่เป็นการเดินด้ายทั้งตัวตามขอบตะเข็บ เช่น ขอบไหล่ ขอบกระเป๋าหน้าอก สาบหน้า ตะเข็บซ้ายขวา ตะเข็บที่แขน เรียกได้ว่าบริเวณไหนที่มีรอยเย็บที่ต้องพับเย็บผ้าเข้าด้วยกันจะมีการโชว์ฝีมือการเดินด้ายมือเกือบทุกที่
การ Pick Stitching ดูเผินๆเหมือนจะทำได้ง่าย แต่ใช้เวลาในการถักที่ค่อนข้างนานและต้องใช้ฝีมือในการถักสูง การเดินด้ายด้วยมือบนแจ็คเก็ตทั้งตัวแบบนี้ หากช่างที่ถักไม่ชำนาญเมื่อถักแล้วจะดูเหมือนเป็นการถักปลอมหรืองานดูชุ่ยไปแทนที่จะดูดี
กระเป๋าบริเวณหน้าอกทรง Barchetta หรือเป็นรูปเรือโค้งขึ้น มีต้นกำเนิดมาจากที่ Naples นี่เอง ชาวเนเปิ้ลเค้าได้แรงบันดาลใจมาจากเรือที่จอดอยู่ริมชายทะเลแถวบ้านเค้านี่แหละครับ เลยจับมันมาใส่ลงในแจ็คเก็ตด้วยซะเลย กลายเป็นหนึ่งใน Signature ของเค้าไป
การต่อไหล่เป็นแบบ Spalla Camicia หรือการต่อปลอกแขนแบบเดียวกับการเย็บต่อแขนเสื้อเชิ้ต เอกลักษณ์ที่เราจะเห็นได้จากการต่อไหล่แบบนี้คือจีบบริเวณไหล่ ซึ่งเท่าที่ผมเจอมาเนี่ย Orazio Luciano จะจับจีบที่ไหล่ให้เห็นชัดมากๆ ชัดที่สุดในบรรดา Neapolitan Tailor ทั้งหมดที่ผมเคยเจอมา แต่ละตัวก็จะเห็นชัดมากหรือน้อยต่างกันไปตามลักษณะของผ้าที่เลือกมาตัดเย็บ ท่านผู้อ่านลองดูรูปเปรียบเทียบระหว่างแจ็คเก็ตในบทความนี้ก็ได้ครับ ว่าผ้าที่แตกต่างกันจะส่งผลให้ดีกรีความเยอะของการจับจีบที่หัวแขนมากน้อยต่างกันไป
ไหล่จะเป็น Soft Shoulder คือไม่มีการเสริมฟองน้ำหรือ Padding อะไรลงไปบนบ่าเลย แต่ช่วงบ่าหน้าจะมีชิ้น Canvas ที่วางไว้แทน Padding ฟองน้ำเพื่อคงทรงของบ่าไว้ให้ยังเรียบเนียนอยู่ หากท่านผู้อ่านคุ้นเคยกับแจ็คเก็ตที่มีการเสริมบ่าโดยใช้ฟองน้ำ อาจจะรู้สึกว่าบ่าโดนกดหรือหรือรู้สึกหนักแถวๆบ่าและอากาศไม่ค่อยถ่ายเทเท่าที่ควร อาการเหล่านี้จะไม่เจอเลยในแจ็คเก็ตนาโปลีครับ
โครงสร้างภายในเป็น Full Canvas หรือถ้าเลือกแบบ Unconstructed ก็จะไม่มีการใส่ Canvas เข้าไปเลย ตัวที่เป็น Full Canvas เป็นการเย็บหางม้าที่ถูกวางไว้บริเวณชิ้นหน้าซ้ายขวาไล่ยาวตั้งแต่บ่าลงไปถึงขอบกระเป๋าด้านล่าง โดยไม่มีโครงสร้างอะไรอย่างอื่นอีกเลยครับ เฮียแกตัดออกไปหมดจริงๆ แคนวาสที่นำมาใช้ในแจ็คเก็ตเป็นแคนวาสสีขาวที่น้ำหนักเบามาก ผมไม่แน่ใจว่าใช้แคนวาสจากเจ้าไหนแต่ใส่สบายเหลือเกิน
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าการทิ้งตัวของแจ็คเก็ตจะสวยมั้ย หรือจะดูเรียบเนียนรึเปล่า ผมยืนยันได้เลยครับว่าแจ็คเก็ตสามารถ Drape ได้เนียนและสวยงามโดยไม่ต้องพึ่ง Padding แต่อย่างใด
ด้านหน้าของแจ็คเก็ตมีการตีสาบหน้าซ้ายขวา โดนจุดเริ่มต้นของสาบฝั่งซ้ายเริ่มจากด้านล่างของกระเป๋าหน้าอกลงไปหน่อยนึง แล้วลากยาวไปจบที่กระเป๋า Patch Pcoket หรือ Flap Pocket ของทั้งสองข้าง
รังดุมทั้งหมดเป็น Handmade Buttonhole หรือการเย็บสร้างรังดุมด้วยมือ การถักมือนอกจากเป็นการโชว์งานฝีมือของช่างตัดสูทแล้ว รังดุมยังมีความแข็งแรงและทนทานต่อการขาดลุ่ยมากกว่ารังดุมเย็บเครื่องอีกด้วยครับ โดยเฉพาะรังดุมที่มีขนาดใหญ่จะเสี่ยงต่อการขาดลุ่ยง่ายมากกว่าหากถักด้วยเครื่องจักรเมื่อเทียบกับรังดุมของเสื้อเชิ้ต
ซับในมักจะเป็น Half Lining ลงไปจนถึง Quarter Lining ขึ้นอยู่กับเราเลือก และซับในใช้เป็นของ Cupro Bemberg ครับ เป็นวัสดุที่ใช้กันแพร่หลายสำหรับเป็น Lining ของแจ็คเก็ตหรือกางเกง Bemberg นี้ทำมาจาก Cotton โดย Asahi-Kasei ประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วจะมีลักษณะเส้นใยที่ละเอียดมากไม่เหมือน Cotton ที่เราคุ้นเคยและสัมผัสที่เนียนนุ่มลื่นคล้ายกับ Silk แต่ให้ความสามารถในการระบายความร้อนที่ดีกว่า
ด้วยลักษณะของการตัดเย็บที่พยายามตัดโครงสร้างส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุดอย่างในรูปที่ท่านผู้อ่านได้เห็นและไปเน้นลักษณะของงานตัดเย็บแต่ละจุดให้มีดีเทลและเป็นดีเทลที่เห็นได้ชัดเจน สมกับคำว่า Second Skin ของการตัดเย็บในแบบฉบับของนาโปลีที่ใส่แล้วไม่ได้รู้สึกร้อนกว่าเดิมเท่าไหร่และใส่สบายจริงๆ
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การตัดเย็บแบบ Soft Tailoring จะโชว์ให้เห็นสัดส่วนจริงของตัวเราเองได้ชัดกว่าเพราะไม่ได้มีการเสริมโครงสร้างเพื่อ Shape สัดส่วนบนตัวแจ็คเก็ตมากนัก หากท่านผู้อ่านที่ชอบแจ็คเก็ตที่ใส่แล้วให้ลุคที่มีอกและมีเอวจากการเสริมโครงสร้างภายในแจ็คเก็ตเยอะๆหน่อยอาจจะไม่ชอบลุคของ Soft Tailoring สักเท่าไหร่
หากท่านผู้อ่านมีโอกาส ผมอยากให้ลองไปที่ร้าน The Somchai แกมีแจ็คเก็ตของ Orazio Luciano ที่เป็น Neapolitan Tailoring เทียบกับ “Liverano & Liverano” ซึ่งเป็นอีกสไตล์ที่เรียกว่า Florentine Tailoring จากเมือง Florence ซึ่งจะมีการ Shape Silhouette ให้เกิดลุคของความอกผายไหล่ผึ่งที่มากกว่า จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากๆเลยครับ
ถ้าผมต้องสรุปสไตล์ของ Orazio Luciano เป็นประโยคสั้นๆ ผมคงจะบอกว่าเป็นแจ็คเก็ตที่ให้รสชาติจัดจ้านมากที่สุดจานหนึ่ง กินเข้าไปคำแรกแล้วรู้เลยว่าเผ็ดจนต้องร้องขอชีวิต
ทั้งหมดนี้ก็เป็นรายละเอียดของ Orazio Luciano หนึ่งใน Tailor ที่ผมจัดให้ลีลางานเย็บมือของแกไม่เป็นสองรองใคร ท่านผู้อ่านจะชอบสไตล์แบบนี้เหมือนผมหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่ตัวท่านผู้อ่านคนเดียวเท่านั้นที่จะสามารถตอบคำถามนี้ได้ครับ