SIGNORE CLOSET

View Original

แจ็คเก็ตหรือสูทแบบไหนใส่แล้วไม่ร้อน? เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย

หนึ่งในปัจจัยหลักๆที่ทำให้หลายๆท่านไม่ชอบที่จะใส่สูทหรือแจ็คเก็ตออกมานอกบ้าน เป็นเพราะอากาศในบ้านเมืองเราที่ร้อนอบอ้าวตลอดทั้งปี ใส่แค่เสื้อชิ้ตแขนยาวอยู่ข้างนอกตึกหรือห้องที่ไม่ใช่ห้องแอร์แปปเดียวก็ยังร้อนแทบตายอยู่แล้ว แต่จริงๆท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่า มีสูทหรือแจ็คเก็ตที่สามารถใส่ได้ในสภาพอากาศบ้านเราได้แบบที่เรียกว่า “ไม่ได้ร้อนไปกว่าเดิมสักเท่าไหร่” โดยมีปัจจัยหลักอยู่ที่การเลือกผ้า โครงสร้างของแจ็คเก็ต และการเลือก Lining ครับ
โครงสร้างหรือโครงกระดูกของแจ็คเก็ต (Interlining) คือสิ่งที่ทำให้แจ็คเก็ตเมื่อตัดเย็บออกมาแล้วมีรูปทรงที่อยู่ตัวเกิดเป็นทรงไหล่ อก และเอวเพื่อให้เกิด Drape หรือการทิ้งตัวของผ้าที่สวยงาม ตัวโครงสร้างนี้จะซ่อนอยู่ภายในระหว่างผ้าของตัวแจ็คเก็ตกับ Lining ด้านในบริเวณชิ้นแผ่นหน้าเกือบทั้งหมด โดยหลักๆแล้วตัวโครงสร้างนี้จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบ Fuse และ Canvas 

Neapolitan Tailoring จะขึ้นโครงสร้างด้วย Canvas หรือหางม้าทั้งแผ่นบริเวณชิ้นหน้าทั้งหมด ตั้งแต่บริเวณไหล่ไล่ลงไปจนถึงชายขอบด้านล่าง (สีแดง) โดยไม่มีการเสริมโครงสร้างอย่างอื่นเลย รวมถึงบริเวณปกแจ็คเก็ตหรือ Lapel (สีเหลือง)

โครงสร้างแบบ Fuse จะเป็นการขึ้นโครงสร้างโดยใช้วิธีการติดกาวตัวแผ่นโครงสร้างเข้ากับเนื้อผ้าของสูท ส่วนโครงสร้างแบบ Canvas จะเป็นการขึ้นโครงสร้างโดยการเย็บแผ่น “หางม้า” ขึ้นเป็นโครงสร้างภายใน และแจ็คเก็ตอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีโครงสร้างอะไรภายในเลย เรียกว่า Unconstructed Jacket

หากเราพิจารณาจากเฉพาะโครงสร้างของแจ็คเก็ต แจ็คเก็ตที่ขึ่นโครงสร้างแบบ Fuse เมื่อใส่แล้วจะร้อนกว่าแบบ Canvas มาก ท่านผู้อ่านลองพิจารณาผ้าสองชั้นที่มีแผ่นโครงสร้างหนึ่งแผ่นเป็นแซนวิชอยู่ตรงกลางโดนกาวฉาบติดอยู่ด้านในเข้ากับผ้าชั้นนอกและ Lining การ Fuse ปิดด้วยกาวเป็นฉนวนกันความร้อนชั้นดีที่ทำให้อากาศไม่เกิดการถ่ายเท ถึงแม้ตัวผ้าที่เราเลือกใช้ทำแจ็คเก็ตจะถ่ายเทอากาศได้ดีก็ตาม 

อีกหนึ่งลักษณะการขึ้นโครงสร้างแจ็คเก็ตคือ การเย็บด้วยหางม้าหรือ Canvas เนื่องด้วยโครงสร้างของแจ็คเก็ตถูกขึ้นโครงสร้างโดยการเย็บมือ ไม่มีการใช้กาวปิดแบบ Fuse บวกกับวัสดุที่เป็นหางม้ามีความเบาและโปร่ง เมื่อนำมาขึ้นเป็นโครงสร้างภายในจึงยังคงทำให้แจ็คเก็ตถ่ายเทอากาศได้ดี

เมื่อนำแจ็คเก็ตมาส่องเข้ากับไฟตรงๆจะเป็นการพิสูจน์ความเบาบางของแจ็คเก็ตที่ใส่แล้วไม่ร้อนได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถเห็นเลเยอร์แต่ละชั้นทะลุแสงไฟออกมาได้ชัดเจนมากระหว่างตัวผ้าเอง ชั้นซับในสีน้ำเงิน (ลูกศรสีแดง) และบริเวณที่เริ่มมีการเสริมหางม้า (ลูกศรสีเหลือง)

ปัจจัยต่อมาที่เราต้องพิจารณากันให้ดีคือ แจ็คเก็ตตัวนั้นใช้ผ้าอะไร หรือเวลาเราจะเลือกผ้าเพื่อตัดแจ็คเก็ตใหม่ การดู Collection ของผ้าว่าอยู่ใน Season ไหนจากเล่มผ้าซึ่งมักจะบอกว่าเป็น Bunch ผ้าจากปีไหนและฤดูใด จะช่วยเป็นตัวช่วยกรองขั้นต้นได้อย่างดี เช่น หากเราเลือกผ้า Fall/ Winter มาตัด รับรองว่าถึงแจ็คเก็ตจะมาเป็น Full Canvas แต่ยังไงก็ร้อนตับแตกแน่นอน 
จากนั้นเราจึงมาพิจารณาต่อกันที่น้ำหนักของผ้า เบื้องต้นคือผ้ายิ่งเบาจะยิ่งใส่สบายเพราะระบายอากาศได้ดี แต่ก็จะมีข้อแลกเปลี่ยนกันคือ เมื่อผ้ามีน้ำหนักเบาจะทำให้การทิ้งตัวและอาการ Drape ของผ้าไม่เนียนสวยเท่ากับผ้าที่มีน้ำหนักสูง และผ้ายังยับง่ายกว่า เราควรจะได้ลองหรือเห็นแจ็คเก็ตที่มีผ้าตัวนั้นอยู่ก่อนสั่งตัดหรือปรึกษา Tailor ให้ดีก่อนครับในเรื่องนี้
ถัดมาคือ "ความถี่ของเนื้อผ้าที่ถูกทอ" สามารถสังเกตได้ง่ายๆจาก Bunch ผ้าโดยการยกขึ้นมาส่องกับแดดหรือแสงไฟตรงๆ ผ้าที่ทอค่อนข้างห่างและเห็นรูแสงเป็นรูๆส่องทะลุมาจะเป็นผ้าที่ระบายอากาศได้ดีกว่าผ้าที่ยกมาส่องแล้วทึบ ความถี่ในการทอนี้เองจะเป็นตัวช่วยให้ผ้าที่มีน้ำหนักสูงแต่ทอห่าง เช่น พวก High-Twist หรือ 2-Ply/ 3-Ply/ 4-Ply มีความสามารถในการระบายอากาศได้ดี แต่ยังคงน้ำหนักที่สูงไว้ได้ทำให้ทิ้งตัวได้สวย ยับยาก และ Drape รับกับรูปร่างของเราได้สวยกว่า

Jacket ที่เป็น Half-Lining (พื้นที่ Highlight สีขาว) โดยเว้นการเย็บซับในบริเวณหลังล่างลงมาจะช่วยทำให้แจ็คเก็ตระบายอากาศได้ดีขึ้น

ปืดท้ายด้วยส่วนของ Lining ภายในตัวแจ็คเก็ต หรือที่เราเรียกกันว่าผ้าซับใน ซึ่งเป็นส่วนที่สุภาพบุรุษหลายๆท่านไม่ได้สนใจกันมากเท่าใดนัก แต่ส่งผลต่อ Drape และการระบายอากาศอย่างมีนัยสำคัญ 
การปิดชั้นซับในเปรียบเสมือนกับการเพิ่มผ้าเข้าไปอีกชั้นหนึ่งให้กับตัวแจ็คเก็ต ข้อดีของซับในคือ เป็นตัวปิดงานเย็บหางม้าและโครงสร้างด้านในทั้งหมด ทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันหนึ่งชั้นสำหรับงานเย็บโครงสร้างทั้งหลายไม่ให้หลุดหลุ่ยจากการเสียดสีกับเสื้อเชิ้ต นอกจากนั้นการเพิ่มความหนาอีกเล็กน้อยจากชั้นซับในยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการ Drape ของแจ็คเก็ตอีกด้วยครับ แต่สิ่งที่พึงระวังนิดเดียวคืออาจจะร้อนขึ้นหน่อย
การปิดโครงสร้างซับในก็มีหลายแบบ ได้แก่ Fully-Lined หรือด้านในปิดด้วยซับในทั้งหมด Half-Lined ที่มักจะเว้นซับในบริเวณแผ่นหลังกลางถึงล่างไว้ให้โล่ง Quarter-Lined ที่นำเอาซับในบริเวณแผ่นหน้าออก และสุดท้ายที่ Unlined หรือไม่มีการใส่ซับในเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะเลือกซับในแบบไหนมักจะเกี่ยวข้องกับระดับความเป็นทางการของแจ็คเก็ตหรือสูทเป็นสำคัญ เช่น Fully-Lined และ Half Line มักจะใช้ในสูทแจ็คเก็ตที่ Formal ส่วน Quarter/ Unlined มักจะเจอใน Jacket ที่ค่อนไปทาง Casual ครับ 

Unconstructed Jacket ที่ไม่มีการเสริม Canvas ใดๆเลย และมีซับในเพียงบริเวณหลังส่วนบนนิดเดียว

สำหรับผม หากพูดโดยทั่วไปแล้วการเลือกซับในแบบ Half Line เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสภาพอากาศบ้านเราครับ แต่หากวางแผนที่จะใส่ใน Occasion ที่ไม่ได้ออกแดดสักเท่าไหร่หรืออยู่ในห้องแอร์เป็นหลัก หรือแจ็คเก็ตสูทมีความ Formal สูง การเลือก Fully-Lined ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ ส่วนมาก Tailor ในปัจจุบันมักเลือกใช้ซับในที่เป็น Cupro Bemberg กันอยู่แล้วซึ่งเป็นวัสดุคล้าย Silk แต่มีความสามารถในการระบายอากาศได้ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรจะปรึกษาเรื่องนี้กับ Tailor เพื่อความชัวร์กันก่อนครับ
กล่าวโดยสรุปแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเลยครับที่ Soft Neapolitan Tailoring จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายสำหรับการใส่ในช่วง Spring/ Summer และประเทศที่อยู่ในแถบร้อนทั้งหลายตามแนวเส้นศูนย์สูตร เพราะโครงสร้างแจ็คมักขึ้นมาจากหางม้าชิ้นเดียวปิดยาวจากด้านล่างไปจนถึงไหล่และไม่มีการเสริม Shoulder Pad ที่เป็นโฟม และการตัดเย็บที่เน้นเบาไว้ก่อนเป็นหลัก จึงได้ออกมาเป็นแจ็คเก็ตที่ระบายอากาศได้ดีและใส่สบายมากๆครับ