Split Toe Derby จาก Ravello - อีกหนึ่งทางเลือกของ “รองเท้าผูกเชือก” ที่ใส่ง่ายและสบายไม่แพ้รองเท้า Loafer
หากพูดกันถึงรองเท้าที่เป็นแบบ Lace Up หรือรองเท้าผูกเชือก รองเท้าสองตัวแรกที่ผมเชื่อว่ามักจะผุดขึ้นมาในใจก็คือ “Oxford และ Derby” ตัวถัดๆลงมาที่ถึงแม้จะไม่ใช่รองเท้าผูกเชือกแต่ก็ค่อนข้างได้ครับความนิยมคือ Monk Strap เชื่อมั้ยครับว่ายังมีรองเท้าอีกรูปแบบหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยได้รับความนิยมจนกลายเป็นกระแสแต่จัดเป็นหนึ่งใน Classic Shoes ที่ใช้งานได้ง่ายและหลากหลาย นั่นก็คือ “Split Toe Derby”
รองเท้า Split Toe เป็นหนึ่งในรองเท้าผูกเชือกที่เรียกกันว่า Derby ซึ่งหลายๆคนอาจจะสับสนกับรองเท้า Oxford เนื่องจากมีรูปทรงที่คล้ายกัน แต่ความจริงแล้วโอกาสในการใช้งานและระดับความเป็นทางการของรองเท้าสองแบบนี้ค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะ Oxford เป็น Close-Lacing แต่ Derby เป็นแบบ Open-Lacing ในบทความนี้ผมจะขออนุญาตพูดถึงเฉพาะตัว Split Toe Derby เพียงรูปแบบเดียวก่อนนะครับ
ต้องเท้าความกลับไปถึงประวัติที่มาของรองเท้า Split Toe กันสักหน่อย
ที่มาของรองเท้าตัวนี้มาจาก “ความต้องการในการกันน้ำซึมทะลักเข้าไปภายในรองเท้าหนังผูกเชือก” หากเปรียบเทียบ Pattern การตัดเย็บตัวรองเท้าระหว่าง Oxford และ Derby แล้วตัว Derby จะมีความสามารถในการกันน้ำเข้ารองเท้าแล้วมาเปียกแฉะภายในได้มากกว่า เพราะลิ้นรองเท้าและ Vamp ของ Derby เป็นชิ้นหนังแผ่นเดียวกัน ทำให้ช่องที่น้ำจะไหลเข้ารองเท้าอยู่สูงกว่ารองเท้า Oxford แต่มันก็ยังไม่ดีพอเท่าไหร่ เพราะส่วน Upper ของรองเท้ามี Pattern ที่ต้องตัดชิ้นหนังแยกแผ่นแล้วต้องนำมาเย็บติดกับส่วนอื่นหลายจุด ซึ่งยังไงก็กันน้ำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจากชิ้นหนังที่ไม่ใช่ชิ้นเดียวกันทั้งแผ่น เป็นสาเหตุให้น้ำมักจะซึมผ่านตามรอยตะเข็บที่เป็น Stitching อยู่เรื่อยๆ
ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้ชิ้นหนังแผ่นใหญ่ชิ้นเดียวมาตัดเป็นร้องเท้าทั้งคู่จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการตัดเย็บและราคาแพงขึ้น ฉะนั้นเค้าจึงได้ไอเดียกันขึ้นมาว่า ถ้างั้นเลือกตัด Pattern ชิ้นหนังส่วน Quarter ให้เป็นหนังชิ้นเดียวไปจนถึง Facing เลยแล้วกัน แต่ด้านหน้าและด้านบนของรองเท้าต้องตัดแยกชิ้นหนังแล้วนำมาเย็บติดกันกันเพื่อความง่ายและประหยัดในการผลิต เกิดเป็นการแยกชิ้นหนังออกจากกันตรงปลายรองเท้าแล้วเย็บติดกันใหม่หรือการ “Split Toe” นอกจากนั้นยังส่งผลให้ช่างตัดเย็บสามารถยก Vamp ให้สูงขึ้นได้อีก แล้วจึงทำการปิดด้วยหนังอีกแผ่นหนึ่งที่ยังคงความเป็น Derby อยู่คือ ชิ้นหนังช่วง Vamp ต่อยาวไปถึงลิ้นรองเท้าเป็นชิ้นเดียว เกิดเป็นการเย็บ Apron ที่ดูผ่านๆมีความคล้ายคลึงกับรองเท้า Moccasin
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยกันว่า เอ้า ปลายรองเท้าก็ต้องเย็บชิ้นหนังติดกันใหม่อยู่ดี แล้วมันจะกันน้ำเข้าได้ดีกว่าเดิมยังไง?
ตรงบริเวณปลายเท้าที่มีการ Split Toe จะใช้วิธีการเย็บหนังกลับเข้ามาติดกันด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “Skin Sitiching” เป็นการเย็บที่ “ไม่ได้มีการเจาะเข็มให้ทะลุชิ้นหนังออกมาภายนอก” หรือเย็บหนังให้ติดกันเฉพาะด้านในตัวรองเท้า ทำให้รอยเย็บทั้งหมดอยู่ด้านใน ไม่มีรูระหว่างเส้นด้ายกับหนังที่เปิดให้น้ำเข้าจากด้านนอก โดยการเย็บแบบ Skin Stitching มีความแข็งแรงมากกว่าการเย็บปกติทำให้กันน้ำได้เข้าได้ดีกว่า
หลังจากเย็บปิดแผ่นหนังบริเวณ Split Toe ปลายเท้าแล้ว เรายังเหลือชิ้นหนังอีกชิ้นที่ต้องเอามาจัดการให้เรียบร้อย นั่นก็คือ ชิ้นหนังที่จะเอาปิดบริเวณ Vamp ด้านบน โดยวิธีการเย็บปิด Vamp ด้านบนนี้ก็ต้องใช้เข็มเย็บแบบพิเศษที่เรียกว่า Boar-Bristle ค่อยๆแทงด้ายเข้าไปเพื่อเย็บปิดชิ้นหนังทุกชิ้นเข้าด้วยกัน อีกเช่นเคยครับว่าการเย็บปิด Apron แบบนี้ต้องอาศัยการเย็บด้วยมือ ด้วยเทคนิคการเย็บแบบนี้ทำให้รองเท้า Split Toe เกิดเป็น Apron ที่มีลักษณะเฉพาะตัวเรียกว่า “Pie Crust Apron” หรือ “ขอบ Apron ที่ดูเหมือนขอบขนมพาย” ขึ้นมา
ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้ Split Toe Derby มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจาก Derby ทั่วไปคือ “Skin Stitching” ที่หัวรองเท้าและ “Pie Crust Apron” บริเวณด้านบน นอกจากนั้นการเย็บแบบ Skin Stitching และ Pie Crust Apron ยังคงต้องใช้ “มือและฝีมือ” ในการเย็บเท่านั้น ทำให้ในปัจจุบันรองเท้า Split Toe จึงมักมีราคาสูงมากกว่ารองเท้า Derby ทั่วไป
แหล่งประเทศที่เป็นจุดกำเนิดจริงๆของรองเท้า Split Toe Derby ยังเป็นที่ถกเถียงและมีหลายเวอ์ชั่น บ้างก็ว่าเกิดมาจากความต้องการใช้ในการตกปลาของนักตกปลาที่ต้องการรองเท้าเอาไว้ลุยและกันน้ำได้ดีในประเทศนอร์เวย์ ดังนั้นอีกชื่อหนึ่งของ Split Toe Derby จึงได้ชื่อว่า “Norwegian Derby” ด้วย
อีกเวอร์ชั่นหนึ่งก็ว่ามาจากผู้ใช้แรงงานในประเทศอังกฤษที่ต้องการรองเท้าที่มีความทนทานเพื่อเอาไว้ลุยในงานก่อสร้าง Infrastructure ต่างๆในช่วงยุคปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 เช่น รางรถไฟและอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เนื่องด้วยโปรเจ็คเหล่านี้มักจะต้องมีการขุดดินตลอดและสภาพอากาศในประเทศอังกฤษที่ฝนตกบ่อยทำให้พื้นเปียกและน้ำขังอยู่บ่อยครั้ง
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จากประวัติที่มาดังกล่าวจึงจะเห็นได้ว่า รองเท้า Split Toe มีจุดกำเนิดมาจากสาย Utilitarian หรือ “พัฒนามาจากความต้องการในการใช้งานจริงหรือ Functional Features” ทำให้ระดับของความเป็นทางการของ Split Toe ไม่ได้สูงมาก ค่อนข้างจะอยู่ในช่วง Smart Casual ไปจนถึง Business Casual แต่ไม่ถึง Business Formal หรือเป็นรองเท้าผูกเชือกที่มีความ Casual สูง หากจะพูดให้ถูกรองเท้า Split Toe คือ “Casual Lace-Up Shoe” นั่นเองครับ
ดังนั้นหากเรานำรองเท้า Split Toe ไปใส่กับสูทเพื่อไปงานที่มีความ Formal สูงอาจจะเกิด Contrast ของระดับความเป็นทางการที่ไม่เข้ากัน แต่การใส่กับสูทที่ค่อนข้างให้ความ Casual ลงมาสักหน่อยเช่น สูท Cotton หรือ Linen แม้กระทั่งสูทผ้า Wool ในบาง Texture หรือใส่คู่กับกางเกงยีนส์ไปเลยก็จะเป็นการเสริมทั้งลุคให้ดูมีลูกเล่นและสนุกขึ้นได้ครับ
รองเท้า Split Toe Derby ที่ผมนำมารีวิวในบทความนี้ มาจาก Shoesmaker น้องใหม่ชื่อ “Ravello”
สำหรับ Split Toe Derby คู่นี้ Ravello เลือกใช้วัตถุดิบเป็นหนัง Box Calf หรือ “หนังลูกวัว” ในแคว้นหนึ่งของประเทศฝรั่งเศสชื่อ Annonay จากโรงฟอกหนัง “Tannerie D’Annonay” หากท่านผู้อ่านเป็นแฟนพันธุ์แท้เครื่องหนังก็น่าจะทราบกันว่า โรงฟอกหนังเจ้านี้เป็นหนึ่งในโรงฟอกที่ส่งหนังให้กับผู้ผลิตกระเป๋า Brandname ชื่อดังในฝรั่งเศสหลากหลายเจ้า รวมไปถึงกระเป๋า Hermes’ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน Hermes’ ได้เข้าครอบครองและถือกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของโรงฟอกหนังเจ้านี้โดยสมบูรณ์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมรองเท้า Split Toe คู่นี้จึงสวมใส่สบายและมี “Forgiveness” ที่ดีมาก
ผมต้องขออนุญาตใช้ Sizing เป็นเท้าของผมเองในการยกตัวอย่างถึง Forgiveness ที่ว่านี้นะครับ
คนปกติอย่างเราๆถ้าได้มีโอกาสเข้าไปวัดขนาดของเท้าด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Brannock” อาจจะแปลกใจว่าเห้ย จริงๆแล้วเท้าของเราขนาดมันไม่ได้เท่ากันนี่หว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ความสมมาตรของร่างกายคนเราจะไม่ได้เหมือนกันทั้งฝั่งซ้ายและขวา บางคนก็มีซีกซ้ายกับขวาที่ต่างกันเล็กน้อย ส่วนตัวผมเท้ามีขนาดต่างกันค่อนข้างเยอะ โดยเท้าขวายาวกว่าเท้าซ้ายครึ่งไซส์และกว้างกว่าเท้าซ้าย 1 สเต็ป (8.5E และ 9EE)
หากผมเลือกรองเท้าโดยอิงเท้าซ้ายเป็นหลัก เท้าขวาผมก็จะใส่ไม่ได้เพราะเล็กเกินไป หากผมอิงเท้าขวาเป็นหลักก็จะทำให้เท้าซ้ายมีโอกาสจะหลุดส้นสูง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยของการ Break-In ที่จะส่งผลให้รองเท้ามีขนาดใหญ่ขึ้นหลังจากใส่ไปเรื่อยๆมาพิจารณาร่วมด้วยอีก ฉะนั้นผมจะหารองเท้าหนังที่ตัดเย็บจาก “หุ่นรองเท้า” หรือ Last กับ Sizing ที่สามารถ Compromise ปัญหาตรงนี้ได้ยากมาก
คำว่า Forgiveness ก็คือการประเมินความสามารถของรองเท้าหนัง Ready-To-Wear ว่าสามารถฟิตให้เข้ากับรูปทรงของเท้าและขนาดของเท้าที่แตกต่างกันของแต่ละคนหรือสรีระที่ไม่เท่ากันของเท้าแต่ละข้างได้มากน้อยแค่ไหน
สำหรับ Split Toe จาก Ravello คู่นี้ ผมให้ 3 ผ่านเลยครับจากที่ระยะเวลา Break-In ไม่นานและ Forgiveness ที่ดีเยี่ยม ตั้งแต่เสียบเท้าลงไปครั้งแรกก็รู้ได้เลยว่า “ไม่ต้องทนเจ็บเท้าไปอีกสองสามอาทิตย์เพื่อรอให้หนังเริ่มขยายรับกับรูปเท้าแน่ๆ” ให้ความรู้สึกสบายเหมือนใส่รองเท้า Loafer แบบ Unlined แต่ยังได้ Structure ของความรองเท้าแบบผูกเชือกอยู่ เป็นอีกจุดที่ผมประทับใจมาก
นอกจากคุณภาพของหนังไปจนถึง Forgiveness แล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสามารถในการสวมใส่แล้วสบายอีกข้อนั่นก็คือ โครงสร้างการเย็บ Outsole แบบ “Bolognese-Goodyear Welted” เป็นการเย็บพื้นหนังแบบ Goodyear Welted นี่แหละครับแต่มันให้คาแรคเตอร์ที่พิเศษอย่างหนึ่งคือ “มันไม่แข็งโป้ก” เหมือน Goodyear Welted ที่เราคุ้นเคย
แฟนๆรองเท้าหนังคงเข้าใจดีว่าการ Break-In รองเท้าหนังนอกจากในส่วนของ Upper แล้ว เรายังต้องใส่ไปสักพักเพื่อให้ Outsole มันเริ่มนิ่มตามขึ้นมาด้วย ซึ่งก็เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาและความอดทนเช่นกันกว่าจะใส่เข้าเท้า
ด้วยความที่การเย็บพื้นเป็นแบบ Bolognese-Goodyear Welted มันให้ความรู้สึกที่ใส่สบายเหมือนเรากำลังใส่รองเท้าที่มี Outsole เป็นแบบพื้นติดกาวเลยครับ มันนุ่มเบอร์นั้นจริงๆ ลองทดสอบได้ง่ายๆโดยหยิบรองเท้ามาจับงอเลยครับ มันให้ตัวได้แบบสบายๆโดยไม่ต้องออกแรงสักเท่าไหร่
พื้นรองเท้าที่เห็นโล่งๆไม่มีเห็นรอยเย็บอะไรเลย ไม่ได้หมายตวามว่ารองเท้าเป็นพื้นแบบติดกาวนะครับ แต่เป็นเทคนิคหนึงของ Outsole ที่เย็บปิดพื้นแบบ “Close-Channel Stitching” จากปกติที่หากรองเท้าเป็น Goodyear Welted เรามักจะเห็นการเซาะร่องลงไปตามขอบพื้นรองเท้าแล้วมีการเดินด้ายเย็บตลอดแนวที่เรียกว่า Open-Channel Stitching
การเย็บปิดพื้นแบบ Close-Channel นี้เป็นการเพิ่มดีเทลที่บ่งบอกถึงความใส่ใจและฝีมือของช่างเย็บรองเท้าไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะต้องอาศัยช่างที่มีฝีมือจากการค่อยๆเซาะเปิดปลายพื้นหนังออก เย็บแบบ Goodyear Welted แล้วเอาแผ่นหนังที่เซาะออกปิดกลับลงไป ทำให้วิธีนี้มีความยุ่งยากกว่า Open Channel และใช้เวลาที่มากกว่า
นอกจากในด้านความสวยงามและโชว์ฝีมือของช่างแล้ว การเย็บปิดแบบ Close Channel เป็นการบ่งบอกอีกอย่างหนึ่งว่า “ร่องที่เซาะลงไปเพื่อเย็บพื้นรองเท้านั้นอยู่ลึกพอแน่นอน“ และการเปิดขอบชิ้นหนังแล้วต้องปิดกลับเข้าไปเพื่อปิดด้ายทั้งหมดยังเป็นการป้องกันด้ายที่เย็บพื้นสึกก่อนเวลาอันควร ทำให้ระยะเวลาในการใช้งานจนพื้นหนังสึกและด้ายที่เย็บลุ่ยจนต้องเปลี่ยน Outsole นั้นยาวนานขึ้น
ในส่วนของ Insole เป็นหนังเดินเต็มทั้งหมดโดยมีการบุแผ่นหนังด้านในที่ให้ความรู้สึกนุ่มสบายเท้า ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยลักษณะโครงสร้าง Outsole รองเท้าที่นุ่มสบาย ให้ตัวได้ง่ายและใช้เวลาในการ Break-In ไม่นาน ทำให้ขณะที่เราเดินใส่บนพื้นจริงๆแล้วไปเหยียบอะไรเข้า เช่น เหยียบก้อนหิน ฝาเท้าอาจจะได้รับสัมผัสของพื้นถนนที่เราเหยียบมากกว่า Goodyear Welted จาก Shoemaker เจ้าอื่นๆ ไม่จัดว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียแต่เป็น Nature ของ Outsole ลักษณะแบบนี้
สวมใส่จริงเป็นอย่างไร?
ในวันแรกที่ผมใส่ใช้งานจริง มีความรู้สึกว่าส่วน Vamp ยังรู้สึกไม่สบายเท้าข้างขวามากจากการโดนกดนิดๆ หน้าเท้าขวายังบีบอยู่หน่อยๆ และบริเวณส้นขวาเจ็บเล็กน้อย รองเท้ากอดรอบเท้าได้ดี ส้นแนบสนิทไม่รู้สึกว่าหลวมหรือจะหลุด หลังจากใส่มาทั้งวันแล้วไม่ได้รู้สึกว่าเจ็บเท้ามากมาย สามารถใส่ได้ทั้งวันโดยไม่รู้สึกเจ็บจนต้องถอดรองเท้าออกมาพัก
พออ่านดูแล้วท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่า เอ้า แล้วมันนุ่มสบายเท้าจริงๆหรอแบบนี้
ผมขออนุญาตอ้างอิงประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดของผมกับรองเท้าหนังว่า “สำหรับรองเท้าหนังคู่ใหม่แกะกล่อง ไม่มีรองเท้าหนังคู่ไหนที่ผมทนใส่ได้เกินครึ่งวันโดยที่ไม่ต้องถอดออกมาพักให้เท้าหายเจ็บ และผมมักจะใส่เดินจริงไม่ไหว ดีสุดๆได้แค่ 3-4 ชั่วโมงก็ต้องถอดออก “
วิธี Break-In รองเท้าของผมคือ ผมจะใส่รองเท้าแล้วนั่งทำงานอยู่กับที่โดยไม่เดินไปไหนเยอะๆสัก 3-4 วันก่อนถึงจะกล้าเอารองเท้าออกไปใส่เดินจริงๆ แต่กว่าจะหายเจ็บเท้าก็น่าจะต้องใส่เดินบนพื้น 7-8 ครั้งขึ้นไปหลังซื้อรองเท้ามา ยกเว้น Unlined Loafer เพียงแบบเดียวเท่านั้นที่ผมจะกล้าใส่ลงพื้นเดินจริงเลย” นี่ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมยกให้รองเท้าคู่นี้ให้ใส่สบายคล้ายกับการใส่ Unlined Loafer ในเวอร์ชั่นที่เป้นรองเท้าผูกเชือกนั่นเองล่ะครับ
หลังจากใส่ต่อเดินจริงๆรวมทั้งหมด 5 ครั้ง (หรือ 5 วัน) ก็รู้สึกได้ว่ารองเท้าเริ่มเข้าที่จากความรู้สึกที่ใส่สบายเท้ามากขึ้น พูดอีกมุมหนึ่งคือหนังเริ่มขยายรับกับทรงเท้าหรือ Break-In ใกล้จะเสร็จแล้ว หน้าเท้าที่เคยบีบก็ใส่สบายขึ้น ส้นที่แข็งเป็น Structure ก็เริ่มนิ่มขึ้นรับกับทรงส้นเท้าจริง และ Vamp ที่กดเท้าในตอนแรกก็ขยายตัวออก โดยอาการทั้งหมดเป็นเฉพาะเท้าข้างขวาข้างเดียวจากการที่เท้าขวาผมใหญ่กว่าเท้าซ้ายครึ่งไซส์แบบที่ได้กล่าวไปข้างต้น ขณะที่เท้าซ้ายไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ได้ฟิตติ้งที่เป็น Snug-Fit พอดิบพอดีโดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าคับหรือหลวม
แล้ว Split Toe Derby นำไปสวมใส่กับลุคแบบไหนได้บ้างล่ะ?
ด้วยความที่ Split Toe เป็นรองเท้าผูกเชือกที่ค่อนข้างให้ลุคที่ Casual ดังนั้นผมอยากสรุปให้ท่านผู้อ่านง่ายๆว่า “ลุคไหนใส่ Loafer แล้วสวย ไม่ว่าจะเป็น Penny หรือ Tassel ลุคนั้นก็สามารถใส่ Split Toe ได้สวยเช่นกัน“ แต่ความรู้สึกของการใส่ Lace-Up จะให้ความเป็นทางการที่มากกว่า Loafer ดังนั้นเราจึงสามารถหยิบรองเท้าคู่นี้ไป Dress Up หรือ Dress Down ได้ง่ายขึ้นอยู่กับแจ็คเก็ตหรือสูทที่จะใส่ ฉะนั้นข้อดีอีกข้อหนึ่งของ Split Toe คือสามารถใช้สวมใส่ไปทำงานได้ทุกวันโดยที่ไม่ได้ดู Dress Up มากเกินไปเหมือนกับรองเท้า Oxford
หากรวมคุณสมบัติและดีเทลของรองเท้าทั้งหมดที่ผมคุยไว้ให้ฟัง ราคารองเท้า Split Toe สเป็คแบบนี้มักจะอยู่ราวๆ 30,000 บาทขึ้นไป แต่เชื่อมั้ยครับว่ารองเท้าคู่นี้ราคาค่าตัวเพียง 8,000 บาทเท่านั้นเอง เป็นรองเท้า Split Toe Derby ที่ยัดงานมือและสเป็คมาให้แบบจัดเต็มไม่กลัวตายในราคาที่กล้าท้าชนทุกแบรนด์ หากเปรียบเทียบรองเท้าในช่วงราคาใกล้เคียงกันที่ได้สเป็คแบบนี้ ผมกล้าการันตีว่ายีงไม่มีแบรนด์รองเท้าไหนในไทยกล้าทำราคาได้บ้าคลั่งแบบนี้มาก่อน
นอกจากนั้น การตัดเย็บ Pattern และการขึ้น Last ของรองเท้ายังเหมาะกับเท้าคนเอเชียที่มี “หน้าเท้ากว้างแต่ส้นแคบ” อีกด้วย หากท่านผู้อ่านเคยลองสวมใส่รองเท้าจากแบรนด์ฝั่งอังกฤษบางเจ้าโดยเฉพาะ Edward Green ก็จะพบว่า Last เค้าจะฟิตกับเท้าคนเอเชียได้ยากกว่าจากสาเหตุที่รองเท้าจะมี “หน้าเท้าแคบแต่ส้นกว้าง” ทำให้บางท่านใส่แล้วอาจจะรู้สึกว่าหน้าเท้าโดนบีบเยอะแต่ยังเกิดอาการเดินแล้วส้นหลุดอยู่ดี (ผมต้องขออนุญาตสารภาพว่าผมชื่นชอบ Edward Green มากๆ เลยซื้อ Loafer เค้ามาใส่สองคู่ สุดท้ายใส่ยังไงก็เจ็บเท้าและส้นหลุดตลอดเวลาเดิน จึงตัดสินใจขายกินไปคู่หนึ่ง แต่อีกคู่ยังคงเก็บไว้ใส่เฉพาะในวันที่ไม่ต้องเดินไปไหนมาไหนเยอะ)
ถ้าท่านผู้อ่านสนใจรองเท้า Split Toe Derby อยู่ ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ไปเอาเท้าเสียบลองรองเท้า Split Toe คู่นี้จาก Ravello จริงๆครับ ร้านตั้งอยู่ที่ตึก Empire Tower สาทร ตั้งอยู่ที่อยู่ชั้น 2 ของร้านตัดผม Black Amber หากลองแล้วใส่สบายและถูกใจดีเทลต่างๆแล้วก็จัดไปเถอะครับ คุ้มค่าคุ้มเงินแน่นอน