กางเกงที่ฟิตติ้ง “สวย” คืออะไร - Classic Menswear Perspective
ผมเป็นคนที่หมกมุ่นกับกางเกงเอามากๆ มากกว่าแจ็คเก็ตเสียอีก เพราะการเข้าใจสัดส่วนกางเกงที่เหมาะสมกับตัวเราสามารถเปลี่ยนลุคและบุคลิกของเราได้ “เยอะมากและชัดเจน”
ชาวเอเชีย รวมถึงชายไทยเป็นส่วนใหญ่จะมีสรีระที่ “ช่วงลำตัวยาวกว่าช่วงขา” ดังนั้นเราลองจินตนาการดูว่าหากเราใส่กางเกงที่เอวต่ำจะพบว่าช่วงลำตัวด้านบนจะดูไม่สมสัดส่วนกับช่วงขาหรือช่วงตัวก็ยังดูยาวกว่าช่วงขาอยู่ ทำให้ขาดูสั้น
ผมขออนุญาตใช้ตัวเองเป็นตัวอย่าง ผมสูง 185 ซม. แต่ผมมีช่วงตัวที่ยาวกว่าช่วงขาค่อนข้างเยอะ เมื่อสัก 4 ปีก่อนผมเริ่มสงสัยมาตลอดว่าทำไมเวลาถ่ายรูปหรือมองในกระจกแล้วตัวเองดูขาสั้นและช่วงตัวยาวกว่าปกติ จนกระทั่งผมได้มาค้นพบสิ่งที่เรียกว่า “กางเกงเอวสูง” และการสั่งตัดกางเกงที่สามารถเลือกระดับความสูงของเอวได้
เมื่อเราสามารถปรับสิ่งที่เรียกว่า Rise หรือความสูงของเอวกางเกงได้ สิ่งๆนี้จะมาช่วย Balance สัดส่วนช่วงขาและช่วงลำตัวให้เหมาะสมกันมากขึ้นเพราะ “ตำแหน่งของเส้นขอบเอว” จะเป็นเส้นในแนวนอนที่จะทำหน้าที่แบ่งลำตัวออกเป็นท่อนบนและท่อนล่าง ซึ่งนอกจากการ Balance สัดส่วนแล้ว แค่เพียงการเพิ่ม Rise นี้เองจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ดูขายาวและตัวสูงขึ้นได้อย่างชัดเจน ปรับสูงมากขาก็จะยิ่งดูยาว แต่สูงเกินไปช่วงตัวก็จะดูสั้นลง
ท่านผู้อ่านที่มีสัดส่วนช่วงขาที่ยาวเมื่อเทียบกับลำตัว อาจะไม่ต้องการกางเกงที่เอวสูงมากนัก หรืออาจจะดูสมส่วนมากกว่าเมื่อใส่กางเกงเอวต่ำเสียด้วยซ้ำ เพราะหากเราใส่กางเกงที่เอวสูงแล้วจะส่งผลให้ลำตัวดูสั้นกว่าเดิม และขาดูยาวเกินจริงมากเกินไป ฉะนั้นการปรับ Rise นี้ไม่มีความสูงที่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับสัดส่วนช่วงตัวเมื่อเทียบกับขา ความสูงทั้งหมดของแต่ละคน และความชอบส่วนตัว
หลายๆท่านพอได้ยินคำว่ากางเกงเอวสูง ก็อาจจะนึกถึงกางเกงที่คุณผู้หญิงชอบใส่กันใช่มั้ยครับ
แต่หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน จริงๆแล้วที่มาที่ไปของกางเกงเอวสูงนี้มีจุดกำเนิดขึ้นมาเพื่อสำหรับกางเกงที่อยู่ในชุดสูทของคุณผู้ชายโดยเฉพาะ เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้นคุณผู้หญิงจะใส่ชุดสไตล์ Dress, Jump Suit หรือเสื้อกับกระโปรงกันมากกว่า จนล่วงผ่านกาลเวลามาเรื่อยๆ ไอ้เจ้า Rise ของกางเกงผู้ชายนี้กลับค่อยๆต่ำลง จนมาต่ำสุดสมัยยุคปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20
ท่านผู้อ่านสังเกตมั้ยครับว่าคุณผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าใจความสำคัญของ Rise กางเกงเป็นอย่างดี และได้นำทริคของกางเกงที่มีเอวสูงมาใช้กันจนเป็นเรื่องปกติเพราะทำให้ช่วงขาดูยาวมากขึ้น แต่ทำไมในตัวเลือกเครื่องแต่งกายของคุณผู้ชายเป็นส่วนมากจึงยังมีแค่เพียงกางเกง Low-Rise หรือเอวต่ำให้เลือกกัน หายากมากที่เราจะเดินไปเจอกางเกง Mid-Rise ถึง High-Rise วางขายอยู่หากไม่ได้สั่งตัดหรือตามหากางเกงวินเทจมือสอง ซึ่งกางเกงเอวต่ำส่วนใหญ่นั้น เราไม่ได้ใส่กางเกงกันที่เอว แต่จะใส่กันที่ระดับสะโพกกันมากกว่า
นอกจากเรื่อง Rise หรือความสูงของเอวที่ผมปรับให้สูงขึ้นแล้ว ฟิตติ้งของกางเกงที่ผมชอบก็ค่อยๆเปลี่ยนจาก Slim Fit กลายเป็น Classic Fit หรือ “กางเกงมันจะค่อยๆใหญ่ขึ่นเรื่อยๆ” ด้วยเหตุผลหลักๆสองประการคือ Classic Fit มันสวมใส่ได้สบายเอามากๆ และอีกเหตุผลคือ Classic Fit เป็นฟิตติ้งที่สามารถทำให้กางเกงสามารถทิ้งตัวลงมาจากสะโพกได้แบบตรงแหน่ว ให้จีบที่คมกริบ ไม่มีรอยหักของจีบ และไม่มีรอยยับย่นของผ้าบนตัวกางเกง ซึ่งก็เป็นหนึ่งใน Aesthetic ที่ทำให้ลุคทั้งหมดดูคลีน สะอาด และดู Professional ไม่ว่าเราจะนำกางเกงไปใส่ทำงานกับเสื้อเชิ้ตเฉยๆ หรือจะใส่แจ็คเก็ตคลุมทับเข้าไปด้วยก็ตาม
ในเรื่องฟิตติ้งนี้เป็นหัวข้อที่ค่อนข้าง Subjective เพราะบางท่านก็อาจจะคิดว่ากางเกงที่เป็น Classic Fit พอใส่แล้วดูใหญ่เกินไป ไม่ Modern แต่เมื่อฟิตติ้งกางเกงเริ่ม Slim แล้ว ก็เป็นไปได้ยากขึ้นที่กางเกงจะสามารถทิ้งตัวให้สวยได้โดยที่ไม่มีริ้วยับย่นของผ้าหรือรอยหักของจีบ
ในมุมมองของ Classic Menswear การดูฟิตติ้งของกางเกงที่สวยดูได้ไม่ยากเลยครับ คือ กางเกงต้องใส่สบาย นั่งแล้วไม่รัด จีบไม่หักทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และทิ้งตัวลงมาได้สวยโดยไม่มีบริเวณที่มีผ้าย่นขณะยืน แต่หากเราจะพิจารณากันให้ลึกลงไปอีก เราจะสามารถไล่เจาะตามบริเวณได้ดังนี้ครับ
ช่วงเอว (Waist)
รอบเอวจะสัมพันธ์กับระดับความสูงของเอวหรือ Rise โดยเราจะวัดรอบเอวของกางเกงตาม Rise นั่นก็คือ หากมีการปรับ Rise ให้สูงขึ้นหรือต่ำลงก็จะทำให้รอบเอวเปลี่ยนตาม (จะเปลี่ยนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นคนมีพุงขนาดไหน) ช่วงเอวที่ดีคือ ไม่แน่นเกินไปแต่ก็ไม่หลวมเกินไป โดยมีวิธีพิจารณาคือเอวกางเกงไม่ควรจะไหลหล่นลงมาขณะที่เรายืนหรือเดิน และต้องไม่รู้สึกแน่นจนหายใจไม่ทั่วท้องขณะที่นั่ง
ส่วนตัวผมจะชอบให้เอวกางเกงติดไปทางหลวมนิดนึง และใส่สายเอี๊ยมหรือ Suspender ช่วย เพราะจะได้ความสบายของช่วงเอวเวลานั่งที่มากกว่า (โดยเฉพาะสุภาพบุรุษที่มีพุงเหมือนผม) โดยที่ไม่ต้องคอยดึงขอบเอวกางเกงขึ้นขณะเดิน
ช่วงสะโพก (Hip)
ช่วงสะโพกเป็นบริเวณที่กว้างที่สุดของกางเกง สะโพกจริงของเราสามารถเช็คได้ง่ายๆโดยทำท่าเท้าเอวแล้วคลำบริเวณด้านซ้ายและขวาให้เจอกระดูก จุดที่กระดูกสะโพกยื่นออกมามากที่สุดจะเป็นบริเวณเดียวกับบริเวณที่กว้างที่สุดของกางเกง หากสะโพกเล็กเกินไปจะทำให้จีบของกางเกงไม่ปิดดีหรือเรียกว่า “จีบแตก” จะเห็นผ้าถูกรั้งตามแนวนอนรอบสะโพกและรู้สึกอึดอัดโดยแนวรอบ
แต่หากบริเวณสะโพกเหลือเยอะเกินไปจะเกิดเป็นผ้าเหลือย่นเป็นแนวตั้งที่บริเวณฝั่งซ้ายและขวาของสะโพก ปกติแล้วการที่ผ้าบริเวณสะโพกถูกตัดให้เหลือเกินไปนิดหน่อยเป็นเรื่องปกติ เพราะจะต้องเผื่อไว้สำหรับเวลาเรานั่งด้วย
ช่วงก้นและต้นขา (Thigh)
กางเกงที่มีต้นขาที่พอดีกับตัวเรา คือเราใส่ได้สบาย เวลาเดินไม่รู้สึกว่าต้นขาถูกรั้ง และเวลานั่งไม่รู้สึกว่าแน่นอึดอัดโดยเฉพาะบริเวณหน้าต้นขา ช่วงต้นขาของกางเกงสามารถวัดได้โดยวางกางเกงตามแนวยาว แล้วพับขากางเกงขึ้นไปจนสุดให้เจอรอยเย็บที่เป้า จากนั้นเราจึงวางสายวัดตรงนั้นตามแนวยาวของต้นขา
ช่วงต้นขาด้านหลังเป็นจุดรอยต่อที่สำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการรีดจีบและการทิ้งตัวของจีบลงไปถึงปลายขา หากผ้าบริเวณต้นขาด้านหลังเหลือน้อยเกินไปก็จะทำให้จีบด้านหลังหักหรือทิ้งตัวไม่สวยไปทั้งตัว
สำหรับบริเวณก้น หากผ้าที่ช่วงก้นเหลือเยอะเกินไปจะทำให้กางเกงไม่กอดก้นและย้วยลงมาเป็นผ้าเหลือ แต่ถ้าหากแน่นเกินไปเราจะรู้สึกได้เวลานั่งเก้าอี้ว่าก้นถูกผ้ารั้งอยู่ด้านหลัง สิ่งหนึ่งที่ควรระวังของช่วงก้นและต้นขาคือ เป้าบริเวณด้านหลังหากอยู่สูงเกินไปจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “กางเกงเข้าวิน” แก้ไขได้โดยปล่อยเป้าลงมา อาการเข้าวินก็จะหายไปหรือดีขึ้นครับ
ช่วงหัวเข่า (Knee)
ช่วงหัวเข่าเช็คได้ง่ายมาก ทำได้โดยการนั่งกับเก้าอี้แล้วจับความรู้สึกว่ากางเกงตึงที่หัวเข่าหรือไม่ อีกทางหนึ่งคือเราใส่กางเกงแล้วเดินปกติ โฟกัสที่เข่าว่ามีการรั้งตึงของผ้ารึเปล่า ถ้าเข่าเล็กเกินไปเวลานั่งจะรู้สึกตึงและอึดอัดที่หัวเข่าเพราะผ้าดึงรั้งไว้อยู่
ความกว้างปลายขา (Leg Opening)
ความกว้างที่ปลายขาจะสัมพันธ์กับขนาดของน่อง หากเราเป็นคนน่องใหญ่ เราอาจจะต้องให้ Leg Opening กว้างขึ้นเพื่อไม่ให้ช่วงน่องถูกรั้ง เราสามารถเช็คได้ง่ายๆว่าน่องถูกรั้งหรือไม่โดยยืนตรงปกติ หากรู้สึกว่าช่วงน่องด้านหลังป่องออกและดึงผ้าด้านหลังให้ยับและจีบด้านหลังหัก แสดงว่า Leg Opening อาจจะเล็กเกินไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยที่ทำให้จีบด้านหลังหักยังมีอีกหลากหลายปัจจัย เช่น ผ้าบริเวณต้นขาเหลือน้อยเกิน เวลาขึ้น Pattern การตัดจึงทำให้ไม่เหลือผ้าพอที่จะทิ้งตัวได้สวยและส่งผลมาถึงบริเวณน่อง เป็นต้น
ขนาดของ Leg Opening ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวด้วยเช่นกันครับ พอเรารู้ขนาดความกว้างปลายขาที่ไม่ทำให้ติดน่องแล้ว เราจะเพิ่มให้ปลายขาใหญ่จากนั้นเท่าไหร่ก็ได้ ยิ่งกว้างจะให้ลุคที่มีความ Classic เพิ่มขึ้น ส่วนตัวผมจะชอบความกว้างปลายขาที่ประมาณ 8.5”-9”
ความยาวขา
ความยาวขาสามารถวัดได้สองแบบ คือ วัดจาก Inseam และ Outseam
การวัดจาก Inseam คือวัดความยาวขาเริ่มตั้งแต่ปลายล่างสุดบริเวณตรงกลางของเป้ากางเกงลงมาที่ปลายขา ขณะที่การวัดจาก Outseam จะวัดจากขอบเอวด้านบนสุดลงมาถึงปลายขา ดังนั้นการวัดแบบ Outseam จะเป็นการวัดความยาวกางเกงทั้งตัว ส่วนตัวผมชอบวัดจาก Inseam มากกว่าเพราะจะได้ความยาวขาจริงๆโดยที่ไม่รวม Rise เข้าไปด้วย
กางเกงควรจะยาวขนาดไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ Subjective ต่อตัวบุคคล บางท่านอาจจะชอบเต่อหน่อยเพราะดู Modern และดู Casual บางท่านอาจจะชอบให้ปิดตาตุ่มหมดแต่ไม่ Break บางท่านก็ชอบให้เป็น Full Break ทั้งหมดนี้ไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะขึ้นอยู่กับความชอบและลักษณะในการใช้งาน
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเรายึดตาม Classic Menswear บวกกับบริบทในปัจจุบัน ส่วนตัวผมคิดว่ากางเกงควรจะยาวอย่างน้อยปิดได้ครึ่งตาตุ่ม จะยาวลงมามากกว่านี้ก็ได้ ปกติผมจะชอบให้กางเกงยาวลงมาจนเกือบจะแตะลิ้นของรองเท้าได้พอดีแบบไม่ Break ซึ่งจะสามารถปิดตาตุ่มได้เกือบหมดโดยปลายขาจะยังไม่กองบนรองเท้า
ความสำคัญของการเช็คความยาวกางเกงคือ อย่าลืมใส่รองเท้าที่เราวางแผนจะใส่กับกางเกงตัวนั้นไปด้วยนะครับ หากลากแตะไปเราอาจจะได้ความยาวกางเกงที่ยาวเกินไปหรือสั้นเกินกลับไปได้
การเบิ้ลปลายขา (Cuff) สามารถตามไปอ่านที่บทความนี้ได้เลยครับ
*กางเกงในบทความนี้ผมตัดมาจาก The Primary Haus เป็นการตัดแบบ Bespoke ทั้งหมด และกางเกง Double Forward Pleat เป็น MTM จาก Yeossal ครับ