เมื่อสไตล์ที่ดี ไม่ใช่สไตล์ที่แพง: Vintage Seiko Quartz
ผมได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทความนี้มาจากนาฬิกาที่เป็น Iconic รุ่นหนึ่งคือ Vintage Cartier Tank และกลุ่มของ must de Cartier
แล้วแบรนด์ที่เป็น Luxury Iconic อย่าง Cartier มันไปเกี่ยวอะไรกับ Seiko ล่ะ?
ต้องขออนุญาตแจ้งท่านผู้อ่านก่อนครับว่าบทความนี้เป็น “ความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวของผมล้วนๆ” ที่อยากจะนำเสนอและกระตุกต่อมความคิดอีกมุมหนึ่งให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณากัน โดยเราตัดเรื่องการซื้อนาฬิกาเพื่อการลงทุนออกไปนะครับ จะคิดกันในแง่ของสไตล์เพียงอย่างเดียว
ย้อนเวลากลับไปกันสักนิดนึงครับเกี่ยวกับนาฬิกา Cartier Tank และ must de Cartier ที่เป็น Vintage หรือพูดกันง่ายๆคือ Cartier ที่มีอายุมากกว่า 30 ขึ้นไป หากเราตามหาซื้อกันในตลาดนาฬิกามือสองภายในไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เชื่อมั้ยครับว่าค่าตัวไม่ได้อยู่หลักครึ่งแสนอัพเหมือนในปัจจุบัน เฉพาะตัวเรือนใช้เงินไม่ถึงหมื่นก็ยังสามารถหาจับจองกันเป็นเจ้าของได้
มันหมายความว่าอะไร?
ณ เวลานั้น “ผู้คนไม่ได้ให้ค่าหรือมาสนใจ Cartier Tank กันสักเท่าไหร่” จนกระทั่งในปัจจุบันที่กระแส Cartier Tank เริ่มมาและมาหนักมากเหมือนมรสุมเข้า พอมีคนอยากได้เพิ่มขึ้น ราคาขายก็เริ่มขยับตัวสูงตาม หากท่านผู้อ่านตามราคานาฬิกาอยู่ก็จะรู้ว่าราคากลางที่ซื้อขายกันถีบตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆตามกลไกตลาด
แล้วแบบนี้ มันหมายความว่า Cartier Tank เป็นนาฬิกาที่สวยใช่มั้ยคนเลยกลับมาให้ความสนใจ?
ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ราคาหรือดีไซน์ที่สวยเป็น Iconic เลยครับ
ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผู้คนเคยไม่ได้ให้ค่าหรือความสำคัญกับเจ้า Cartier Tank หรือ must de Cartier กันมาก่อน ลองคิดกันเล่นๆว่า ถ้าเราเปรียบเทียบ Cartier Tank ณ ตอนนี้ กับเมื่อร้อยปีก่อนหรือเมื่อ 20 ปีก่อน ไอ้เจ้า Tank ยังคงเป็นดีไซน์เดิม แบบเดิม เหมือนเดิมกับที่เค้าผลิตออกมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลก เราอาจจะเคยอ่านบทความหรือดูรีวิว YouTube เกี่ยวกับ Cartier Tank ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งโดยมีผู้ที่มีชื่อเสียงมากมายเลือกใส่
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อย่าลืมนะครับว่า “Tank ก็ผ่านช่วงที่ถูกลืมเลือนมาก่อน”
เหมือนกับ Seiko ที่ผมกำลังคุยกับท่านผู้อ่านนี่แหละครับ
ตั้งแต่ผมเข้ามาเริ่มแต่งตัวสาย Sartorial ผมก็เริ่มอยากได้นาฬิกาที่เป็น Dress Watch ขนาดเล็ก หน้าตาวินเทจ และอยากได้ของเก่าที่เก่าจริงๆ คืออย่างน้อยต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็ได้ไปเจอตัววินเทจหรือนาฬิกาหน้าตาเรียบๆที่ถูกใจหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น Breguet Classique, JLC Reverso, Rolex Day-Date, Omega Constellation และอีกหลายๆเจ้าที่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะรู้หน้าค่าตากันดีอยู่แล้ว
หลังจากเก็บข้อมูลมาได้ซักระยะ ผมก็ไปสะดุดกับ Seiko เข้าเรือนหนึ่ง สองสิ่งที่สะดุดตาผมคือ หนึ่ง Seiko เคยทำนาฬิกาดีไซน์ Classic แบบนี้ออกมาขายด้วยหรอ และสองคือ “ราคาดีชิบหาย”
เรือนที่ผมเจอเป็น Seiko หน้าตาเรียบๆ ทรงออกเหลี่ยมๆ มาพร้อมสายหนังเดิมๆ สภาพแทบจะไม่มีรอย กระจกใสกิ๊ง หน้าปัดสีทองออก Metallic หน่อยๆ เคสนอก Gold-Plated เครื่องเป็น Seiko Quartz พอคุยรายละเอียดกับคนขายเสร็จผมก็รับมาเลยกับราคาค่าตัว 1,250 บาท
เชื่อมั้ยครับว่า Seiko เรือนนี้ผมใส่มันออกไปทำงานด้วยทุกวันตั้งแต่วันแรกที่ผมได้รับมันมา ด้วยความรู้สึกที่ว่า “ในที่สุดก็เจอสักทีกับนาฬิกาที่มาช่วยเสริมลุคให้ได้แบบที่ผมต้องการ”
หลังจากนั้นผมเลยดำดิ่งและไปหาข้อมูลเกี่ยวกับ Seiko ที่มีหน้าตา “ทำนองนี้” มาอีก ก็พบว่า Vintage Seiko ที่หน้าตาแบบนี้มีอยู่สองรุ่น คือ “The League” และ “Dolce” ซึ่งเป็นรุ่นที่วางขายกันในประเทศญี่ปุ่นเป็นเสียส่วนใหญ่
ส่วนตัวผมชอบไลน์ Seiko The League มากที่สุดเพราะหน้าตามัน Vintage ทรงเคสสวย และมีความหลากหลายที่มากกว่า เช่น หน้าปัดมีทั้งแบบเป็นตัวเลขอารบิคที่ฟ้อนต่างกันไป หรือเป็นหลักเลขโรมัน ดีเทลหน้าปัดมีทั้งสีขาว สีขาวมุก สีเหลืองมุก หรือสีดำ บางตัวหน้าเป็น Sunburst บางตัวมีการลงลายกิโยเช่ บ้างก็มีเข็ม Second Hand ปกติบ้างก็เป็น Mini-Second และอีกเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ The League แต่ละตัวมีความแตกต่างกัน ขนาดหน้าปัดจะอยู่ราวๆ 30-31mm หนาประมาณ 7 mm ปัจจุบันนาฬิกาผู้ชายไซส์นี้หาได้ยากเพราะค่อนข้างเล็ก แต่สรุปโดยรวมแล้วไลน์นี้จะให้กลิ่นอายของความเรียบแต่มีคาแรคเตอร์ Vintage ที่ชัดเจน
อีกไลน์หนึ่งคือ Seiko Dolce ชื่อเต็มๆคือ Dolce & Exceline ไลน์นี้มีความ Modern เพิ่มขึ้นมา และราคาตั้ง MSRP จาก Seiko จะแพงกว่า บางตัวมีการใช้วัสดุเป็นทองคำ 18k ทำเป็นเคสด้วย สำหรับผม Dolce จะเป็นดีไซน์ที่เรียบกว่า The League หน้าปัดที่มักจะเจอส่วนใหญ่เป็นหลักก้านไม้ขีด มีหลักโรมันบ้างแต่หาไม่ค่อยได้ ตัวเรือนบางกว่าโดยอยู่ราวๆ 4.5mm เรียกได้ว่าออกเป็นแนวเรียบหรู ไม่ได้ให้ฟีลลิ่งความ Vintage ชัดแบบ The League
Dress Watch ที่ไซส์ไม่ใหญ่และไม่ได้หนาแบบ Seiko สองไลน์นี้ เวลานำไปขึ้นข้อใส่กับเสื้อเชิ้ตจะไม่เจอปัญหาเลยว่าปลายแขนเสื้อเชิ้ตติดกระดุมไม่ได้ หรือติดกระดุมได้แต่ปลายแขนเชิ้ตคลุมปิดนาฬิกาไม่หมด
ก็ด้วยเหตุผลนี้แหละครับว่า ถึงแม้ Seiko เหล่านี้จะเป็นนาฬิกาเก่าๆที่ผู้คนไม่ได้ให้ค่า ให้ราคาหรือความสำคัญ ก็เพราะเป็นแค่นาฬิกา Quartz จาก Seiko ธรรมดาๆ เรือนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกท่านผู้อ่านคือ “สไตล์ที่ดี ไม่ใช่สไตล์ที่แพง หรือต้องใช้ของที่คนอื่นเค้าคิดว่าสวย ว่าดี” แต่มันคือ “สไตล์ที่บ่งบอกความเป็นตัวเราต่างหาก ที่เป็นที่สุดของสไตล์โดยที่ไม่มีใครมาเลียนแบบได้”
มันหมายความว่าอะไรวะเนี่ย?
นาฬิกา ก็เหมือนแจ็คเก็ต กางเกง สูท หรือรองเท้า ที่อยู่ในหมวดเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ สิ่งที่เราเลือกมาสวมใส่ควรจะเป็น “สิ่งที่เราเลือกใช้เพราะมันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงตัวตนของเรา” ไม่ใช่ “สิ่งที่คนอื่นบอกว่าสวยแล้วจึงเอามาใส่” ลองคิดภาพตามผมเล่นๆก็ได้ครับว่า เราได้ไปเห็นรูปของผู้ชายคนหนึ่งใน Instagram ใส่สูทสีม่วง เสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อน เนคไทสีเขียว รองเท้าหนังสีน้ำตาล และถุงเท้าสีเทา ไอ้หมอนี่ใส่แล้วโคตรเท่เลย มันดูธรรมชาติมากๆแต่สีชุดแม่งอย่างเจ็บ เราอยากได้ลุคเท่ๆแบบมันบ้างเลยซื้อยกชุดเหมือนของมันทั้งตัวมาใส่ โดยคิดว่า Combination แบบนี้น่าจะรอดเพพราะมีคนใส่ให้ดูแล้ว
สุดท้ายพอเอามาใส่จริงๆแล้วถึงกับต้องร้องเห้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า
นั่นแหละครับ สาเหตุที่ไอ้หมอนั่นมันใส่สูทสีม่วงแล้วมันดูเท่ เกิดจากการตกตะกอน ลองผิดลองถูกจนรู้ว่าตัวเองชอบอะไร อะไรเหมาะ อะไรใส่ได้ อะไรใส่แล้วสวย อะไรอย่าใส่ เค้ารู้ว่า “สไตล์ของเค้าคืออะไร” ดังนั้นถึงแม้เราจะยกเอาชุดที่เหมือนเค้ามาใส่ทั้งหมด ลุคที่ออกมายังไงของเราก็ดูไม่ธรรมชาติ ดูแปลกๆ ตะขิดตะขวงใจ ไม่เข้าเนื้อเหมือนกับที่เค้าใส่
สไตล์ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ การเลือกนาฬิกามาผสมลุคก็เป็นหนึ่งในสไตล์เหล่านั้น
ผมอยากให้เราลอง "ถอดชื่อแบรนด์ออกไป" แล้วพิจารณาดีไซน์และความสวยงามตามที่ตาเราเห็น อาจจะค้นพบว่าของถูกและดีมีอยู่จริงเหมือนที่ผมได้เจอมาก็ได้ แต่ก็ต้องเป็นของที่เข้ากับสไตล์ของเราด้วย
“กระแสเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ สไตล์เป็นเรื่องส่วนตัว” ของบางอย่างที่คนไม่เห็นค่า ไม่ได้อยู่ในกระแส แต่ถ้าเราชอบ เราใส่แล้วเรามั่นใจ รู้สึกมันเข้ากับลุคและบุคลิกของเรา ก็อย่ารีรอเลยครับที่จะลุยไปกับมัน เหมือนกับประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากจาก Alan Flusser ที่ว่า
“Unlike today, when fashion is something formulated by designer or a store, back in thirties, the style seekers learned that genuine stylishness was an extension of himself, not the other way around”